พระสุตตันตปิฎกไทย: 15/102/360 361 362
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
[๓๖๐] ครั้งนั้น พระราชา ๕ พระองค์เหล่านั้น มีพระเจ้าปเสนทิโกศล เป็นประมุข
เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ
ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ
พระเจ้าปเสนทิโกศล ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูล พระผู้มี
พระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทั้งหลายในที่นี้ เป็นราชา ทั้ง ๕ คน เอิบอิ่ม
เพรียบพร้อมได้รับบำเรออยู่ด้วยเบญจกามคุณ เกิดมีถ้อยคำ โต้เถียงกันขึ้นว่า
อะไรหนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รูปทั้งหลาย เป็นยอดแห่ง
กามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า เสียงทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าว
อย่างนี้ว่า กลิ่นทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลายบางท่านกล่าวอย่างนี้ว่า รสทั้งหลาย
เป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย บางท่านกล่าวอย่างนี้ ว่า โผฏฐัพพะทั้งหลายเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไร หนอเป็นยอดแห่งกามทั้งหลาย ฯ
[๓๖๑] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมหาบพิตร ยอดสุดแห่งความพอใจนั่นแหละ
อาตมภาพกล่าวว่าเป็นยอดในเบญจกามคุณ ดูกรมหาบพิตร รูปเหล่าใดเป็นที่พอใจของคนบาง
คน รูปเหล่านั้นไม่เป็นที่พอใจของคนบางคน เขา ดีใจ มีความดำริบริบูรณ์ด้วยรูปเหล่าใด รูป
อื่นจากรูปเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือ ประณีตกว่า เขาก็ไม่ปรารถนา รูปเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับ
เขา รูปเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยมสำหรับเขา ดูกรมหาบพิตร เสียงเหล่าใด ... ดูกรมหาบพิตร
กลิ่นเหล่าใด ... ดูกรมหาบพิตร รสเหล่าใด ... ดูกรมหาบพิตร โผฏฐัพพะ เหล่าใด เป็นที่พอใจ
ของคนบางคน โผฏฐัพพะเหล่านั้น ไม่เป็นที่พอใจของคน บางคน เขาดีใจ มีความดำริบริบูรณ์
ด้วยโผฏฐัพพะเหล่าใด โผฏฐัพพะอื่นจาก โผฏฐัพพะเหล่านั้น จะยิ่งกว่า หรือประณีตกว่า เขา
ก็ไม่ปรารถนา โผฏฐัพพะ เหล่านั้นเป็นอย่างยิ่งสำหรับเขา โผฏฐัพพะเหล่านั้นเป็นยอดเยี่ยม
สำหรับเขา ฯ
[๓๖๒] ก็สมัยนั้น จันทนังคลิกอุบาสกนั่งอยู่ในบริษัทนั้น ฯ
ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสกลุกจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมอัญชลี
ไปทางพระผู้มีพระภาค แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่ พระผู้มีพระภาค เหตุอย่างหนึ่ง
ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ข้าแต่พระสุคต เหตุอย่างหนึ่งย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจันทนังคลิกะ ขอเหตุนั้นจงแจ่มแจ้งเถิด ฯ
ลำดับนั้น จันทนังคลิกอุบาสก ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาคเฉพาะพระพักตร์ ด้วย
คาถาที่สมควรแก่เหตุนั้นว่า