พระสุตตันตปิฎกไทย: 22/172/165
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ ย่อมเป็นผู้ควรเป็นอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ ธรรม ๕ ประการ
เป็นไฉน คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีลโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่
มาด้วยศีลสัมปทากถาได้ ๑เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสมาธิโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วย
สมาธิสัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญาโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยปัญญา
สัมปทากถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติสัมปทา
กถาได้ ๑ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิมุตติญาณทัสสนะโดยตนเอง และเป็นผู้แก้ปัญหาที่มาด้วยวิมุตติ
ญาณทัสสนสัมปทากถาได้ ๑ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๕ ประการนี้แล
เป็นผู้ควรเป็นอยู่ร่วมกับเพื่อนพรหมจรรย์ ฯ
จบสูตรที่ ๔
๕. ปัญหาปุจฉาสูตร
[๑๖๕] ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรได้เรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้นรับคำท่านพระสารีบุตรแล้ว ท่านพระสารีบุตรได้กล่าวว่าดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุ
บางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่นด้วยเหตุ ๕ ประการทั้งหมดหรืออย่างใดอย่างหนึ่ง เหตุ ๕
ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุบางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่นเพราะโง่เขลา เพราะหลงลืม ๑
ภิกษุบางรูปเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ถูกความปรารถนาครอบงำ จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ๑
ภิกษุบางรูปดูหมิ่นจึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ๑ ภิกษุบางรูปประสงค์จะรู้จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ๑
อนึ่ง ภิกษุบางรูปคิดอย่างนี้ว่า ภิกษุอื่นถ้าถูกเราถามปัญหาก็จักแก้โดยชอบ ข้อนั้นเป็นความดี
แต่ถ้าถูกเราถามปัญหาจักไม่แก้โดยชอบ เราเองจักแก้โดยชอบแก่เธอ ดังนี้ จึงถามปัญหากะ
ภิกษุอื่น ๑ ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุบางรูปย่อมถามปัญหากะภิกษุอื่น ด้วยเหตุ ๕ ประการ
ทั้งหมดหรืออย่างใดอย่างหนึ่งส่วนข้าพเจ้าคิดอย่างนี้ว่า ถ้าภิกษุถูกเราถามปัญหาจักแก้โดยชอบ
ข้อนั้นเป็นความดีแต่ถ้าถูกเราถามปัญหาจักไม่แก้โดยชอบ เราเองจักแก้โดยชอบแก่เธอ ดังนี้
จึงถามปัญหากะภิกษุอื่น ฯ
จบสูตรที่ ๕