พระสุตตันตปิฎกไทย: 16/195/469 470 471
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค
คิดว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์อาวุโส ด้วย
อาการอย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส ฯ
[๔๖๙] สา. อาวุโส ก็ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีความสะดุ้งกลัวอย่างไร ฯ
ก. อาวุโส ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า อกุศลธรรมอันลามก
ที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อเกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์ ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า
อกุศลธรรมอันลามกที่เกิดขึ้นแล้วแก่เราเมื่อเรายังละไม่ได้ จะพึงเป็นไปเพื่อความเสียประโยชน์
ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่ากุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นแก่เรา เมื่อไม่เกิดขึ้น จะพึงเป็นไปเพื่อความ
เสียประโยชน์ย่อมสะดุ้งกลัว โดยคิดว่า กุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรา เมื่อดับ จะพึงเป็นไป
เพื่อความเสียประโยชน์ อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุจึงจะชื่อว่าเป็นผู้มีความสะดุ้งกลัว
อาวุโส ด้วยอาการอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีความเพียรเครื่องเผากิเลส มีความสะดุ้งกลัว เป็นผู้
ควรเพื่อความตรัสรู้ ควรเพื่อพระนิพพานควรเพื่อบรรลุธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอย่างยอดเยี่ยม
ดังนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๒
๓. จันทูปมาสูตร
[๔๗๐] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เขตพระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย ... แล้วได้ตรัสว่า ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเป็นประดุจพระจันทร์จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์
เป็นผู้ไม่คนองในสกุลทั้งหลายเข้าไปสู่สกุลเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจะพึงพราก
กาย พรากจิตแลดูบ่อน้ำซึ่งคร่ำคร่า หรือที่เป็นหลุมเป็นบ่อบนภูเขา หรือแม่น้ำที่ขาดเป็นห้วงๆ
ฉันใด พวกเธอจงเป็นประดุจพระจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่
คนองในสกุล เข้าไปสู่สกุล ฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย กัสสปเปรียบประดุจพระจันทร์ พราก
กาย พรากจิตออกแล้ว เป็นผู้ใหม่อยู่เป็นนิตย์ไม่คนองในสกุลทั้งหลาย เข้าไปสู่สกุล ฯ
[๔๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุชนิดไร จึง
สมควรเข้าไปสู่สกุล ฯ