พระสุตตันตปิฎกไทย: 25/270/306
สุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต
ภารทวาชพราหมณ์ก่อไฟแล้วตกแต่งของที่ควรบูชา อยู่ในนิเวศน์ ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาค
เสด็จเที่ยวบิณฑบาตตามลำดับตรอก ในพระนครสาวัตถี เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอัคคิก
ภารทวาชพราหมณ์ อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียวครั้น
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น หยุดอยู่ที่นั่นแหละสมณะ หยุด
อยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย ฯ
เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกร
พราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ ฯ
อ. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อย
ดีละ ขอท่านพระโคดมจงแสดงธรรมตามที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้จักคนถ่อยหรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้
เป็นคนถ่อยเถิด ฯ
พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวอัคคิกภารทวาช
พราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาประพันธ์นี้ว่า
[๓๐๖] ๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว มีทิฐิวิบัติ และมีมายา
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย
๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว แม้หรือเกิดสองหนไม่มี
ความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น มีชื่อเสียงว่า ฆ่าชาวบ้านและชาว
นิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้ ในบ้านหรือในป่า
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๕. คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ หนีไปเสีย
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของ เพราะอยากได้สิ่งของพึงรู้ว่า
เป็นคนถ่อย ฯ
๗. คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ เพราะเหตุแห่งตนก็ดี
เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี เพราะเหตุแห่งทรัพย์ก็ดี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ