พระสุตตันตปิฎกไทย: 13/279/385
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
[๓๘๕] ดูกรอุทายี พระตถาคตเสด็จอุบัติขึ้นในโลกนี้เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดย
ชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มี
ผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของพวกเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนก
พระธรรม (พระตถาคตพระองค์นั้นทรงทำโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ให้แจ้งชัด
ด้วยพระปัญญาอันยิ่งของพระองค์เองแล้ว ทรงสอนหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและ
มนุษย์ให้รู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีคุณอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ทรงประกาศ
พรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง คฤหบดี บุตรคฤหบดี
หรือผู้เกิดเฉพาะในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ย่อมฟังธรรมนั้น แล้วได้ศรัทธาในพระตถาคต เขา
ประกอบด้วยศรัทธานั้น ย่อมเห็นตระหนักชัดว่า ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี บรรพชา
เป็นทางปลอดโปร่ง การที่บุคคลผู้ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ ให้บริสุทธิ์โดย
ส่วนเดียวดุจสังข์ขัด ไม่ใช่ทำได้ง่าย ถ้ากระไรเราพึงปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์
ออกบวชเป็นบรรพชิต สมัยต่อมา เขาละกองโภคสมบัติน้อยใหญ่ ละเครือญาติน้อยใหญ่
ปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ออกบวชเป็นบรรพชิต เมื่อบวชแล้ว สำรวมระวังใน
พระปาติโมกข์อยู่ ถึงพร้อมด้วยมารยาทและโคจร มีปกติเห็นในโทษเพียงเล็กน้อยว่าเป็นภัย
สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล มีอาชีพบริสุทธิ์
ถึงพร้อมด้วยศีล คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นผู้สันโดษ)
ฯลฯ ภิกษุนั้นและนิวรณ์ ๕ ประการเหล่านี้ อันเป็นเครื่องเศร้าหมองใจ เป็นเครื่องทำปัญญาให้ทุรพล
ได้แล้ว เธอสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ
และสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ ดูกรอุทายี ธรรมแม้นี้แล เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุ
ทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในเรา เพราะเหตุที่จะทำให้แจ้งชัด.
ดูกรอุทายี อีกประการหนึ่ง ภิกษุบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็น
ธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกวิจารสงบไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
ดูกรอุทายี ธรรมแม้นี้แล เป็นธรรมที่ยิ่งกว่าและประณีตกว่า ที่ภิกษุทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์
ในเรา เพราะเหตุที่จะทำให้แจ้งชัด.