พระสุตตันตปิฎกไทย: 23/311/219 220
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต
คัณฑสูตร
[๒๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนฝีที่เกิดขึ้นหลายปี ฝีนั้นพึงมีปากแผล ๙ แห่ง
มีปากแผลที่ยังไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะพึงไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของ
ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งพึงไหลเข้า สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด
มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียดทั้งนั้นฉันใด คำว่าฝีนี้แล เป็นชื่อของกายอันประกอบด้วยมหาภูต
รูป ๔ นี้ มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นด้วยข้าวสุกและขนมสด มีความไม่เที่ยง ต้อง
ลูบไล้นวดฟั้นมีความกระจัดกระจายเป็นธรรมดา กายนั้นมีปากแผล ๙ แห่ง มีปากแผลที่ยัง
ไม่แตก ๙ แห่ง สิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไหลออกจากปากแผลนั้น สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาดมีกลิ่นเหม็น
น่าเกลียดทั้งนั้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งย่อมไหลเข้า สิ่งนั้นเป็นของไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น น่าเกลียด
ทั้งนั้น ฉันนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายจงเบื่อหน่ายในกายนี้ ฯ
จบสูตรที่ ๕
สัญญาสูตร
[๒๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๙ ประการนี้ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มาก
แล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ๙ ประการเป็นไฉน
คือ อสุภสัญญา ๑ มรณสัญญา ๑ อาหาเรปฏิกูลสัญญา๑ สัพพโลเกอนภิรตสัญญา ๑ อนิจจ
สัญญา ๑ อนิจเจทุกขสัญญา ๑ ทุกเขอนัตตสัญญา ๑ ปหานสัญญา ๑ วิราคสัญญา ๑ ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สัญญา ๙ประการนี้แล อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ
จบสูตรที่ ๖