พระสุตตันตปิฎกไทย: 13/332/480 481 482
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
ทรงผนวชเป็นบรรพชิต ทรงเว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ ทรงเว้นขาดจากการลักทรัพย์ ทรงเว้นขาด
จากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม มหาบพิตร
จะทรงทำอย่างไรกะราชบรรพชิตนั้น?
ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ ข้าพเจ้าพึงกราบไหว้บ้าง พึงลุกรับบ้าง พึงเชื้อเชิญด้วย
อาสนะบ้าง พึงบำรุงราชบรรพชิตนั้นด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะและคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร
บ้าง พึงจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมกะราชบรรพชิตนั้นบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะชื่อเมื่อก่อนของเขาว่ากษัตริย์นั้นหายไปแล้ว เขาย่อมถึงการนับว่าสมณะนั่นเทียว.
[๔๘๐] ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน พราหมณ์ ...
แพศย์ ... ศูทรในโลกนี้ พึงปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิต
เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการลักทรัพย์ เว้นขาดจากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว
ประพฤติพรหมจรรย์ มีศีล มีกัลยาณธรรม มหาบพิตร จะพึงทำอย่างไรกับบรรพชิตนั้น.
ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ ข้าพเจ้าพึงกราบไหว้บ้าง พึงลุกรับบ้าง พึงเชื้อเชิญด้วยอาสนะ
บ้าง พึงบำรุงบรรพชิตนั้นๆ ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารบ้าง
พึงจัดการรักษาป้องกันคุ้มครองอันเป็นธรรมแก่บรรพชิตนั้นๆ บ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
ชื่อเมื่อก่อนของผู้นั้นว่า ศูทร นั้นหายไปแล้ว เขาย่อมถึงการนับว่าสมณะนั่นเทียว.
[๔๘๑] ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนั้นเป็นไฉน ถ้าเมื่อเป็น
เช่นนั้น วรรณสี่เหล่านี้ก็เป็นผู้เสมอกันหมดหรือมิใช่ หรือในวรรณสี่เหล่านี้ มหาบพิตรจะมี
ความเข้าพระทัยอย่างไร?
ข้าแต่พระกัจจานะผู้เจริญ แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ วรรณสี่เหล่านี้ก็เป็นผู้เสมอกันหมด
ในวรรณสี่เหล่านี้ ข้าพเจ้าไม่เห็นจะต่างอะไรกัน.
[๔๘๒] ดูกรมหาบพิตร คำที่อาตมภาพกล่าวนี้ว่า วรรณที่ประเสริฐคือพราหมณ์เท่านั้น
วรรณอื่นเลว วรรณที่ขาวคือพราหมณ์เท่านั้น วรรณอื่นดำ พราหมณ์เท่านั้นบริสุทธิ์ ผู้มิใช่พราหมณ์
ไม่บริสุทธิ์ พราหมณ์เท่านั้นเป็นบุตรพรหม เป็นโอรสเกิดแต่ปากพรหม เกิดแต่พรหม
อันพรหมนิรมิตร เป็นทายาทของพรหม นั่นเป็นแต่คำโฆษณาในโลกเท่านั้น ดังนี้ บัณฑิต
พึงทราบโดยปริยายนี้.