พระสุตตันตปิฎกไทย: 19/425/1693 1694
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
อริยสัจที่ ๔ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ทรงจำ
อริยสัจ ๔ ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วอย่างนี้แล.
[๑๖๙๓] พ. ดูกรภิกษุ ดีละๆ เธอทรงจำอริยสัจ ๔ ที่เราแสดงแล้วได้ถูกต้อง
เราแสดงทุกขอริยสัจเป็นข้อที่ ๑ เธอก็ทรงจำได้ ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งจะพึงกล่าว
อย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ ที่พระสมณโคดมทรงแสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขอริยสัจ
ข้อที่ ๑ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขอริยสัจข้อที่ ๑ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ
เราแสดงทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจเป็นข้อที่ ๔ เธอก็ทรงจำได้ ก็สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด
ผู้หนึ่งจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า นี้มิใช่ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ ที่พระสมณโคดมทรง
แสดงไว้ เราจักบอกเลิกทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ นั้นเสีย แล้วบัญญัติทุกขนิโรธ
คามินีปฏิปทาอริยสัจข้อที่ ๔ อย่างอื่นใหม่ ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เธอจงทรงจำอริยสัจ ๔ ที่
เราแสดงแล้วอย่างนี้แล ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความ
เป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๖
อวิชชาสูตร
ว่าด้วยอวิชชา
[๑๖๙๔] ภิกษุนั้นนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า อวิชชาๆ ดังนี้ อวิชชาเป็นไฉน และด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคล
จึงจะชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา? พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภิกษุ ความไม่รู้ในทุกข์ ในเหตุให้
เกิดทุกข์ ในความดับทุกข์ ในทางที่จะให้ถึงความดับทุกข์ นี้เรียกว่าอวิชชา และด้วยเหตุเพียง
เท่านี้ บุคคลย่อมชื่อว่าตกอยู่ในอวิชชา ดูกรภิกษุ เพราะฉะนั้นแหละ เธอพึงกระทำความเพียร
เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
จบ สูตรที่ ๗