พระสุตตันตปิฎกไทย: 13/489/707
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
เรียกบุคคลผู้องอาจ ผู้ประเสริฐ ผู้แกล้วกล้า ผู้แสวงหา
คุณใหญ่ ผู้ชำนะแล้วโดยวิเศษ ผู้ไม่หวั่นไหว อาบเสร็จแล้ว
ตรัสรู้แล้วนั้น ว่าเป็นพราหมณ์ ผู้ใดรู้ญาณเครื่องระลึกชาติ
ก่อนได้ เห็นสวรรค์และอบาย และบรรลุธรรมเป็นที่สิ้นชาติ
เราเรียกผู้นั้น ว่าเป็นพราหมณ์ อันชื่อคือนามและโคตรที่กำหนด
ตั้งไว้นี้ เป็นแต่สักว่าโวหารในโลก เพราะเกิดขึ้นมาตามชื่อ
ที่กำหนดตั้งกันไว้ในกาลนั้นๆ ทิฏฐิอันนอนเนื่องอยู่ในหทัย
สิ้นกาลนาน ของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายไม่รู้ก็
พร่ำกล่าวว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติ บุคคลจะชื่อว่าเป็นคนชั่ว
เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่
ที่แท้ ชื่อว่าเป็นคนชั่วเพราะกรรม ชื่อว่าเป็นพราหมณ์เพราะ
กรรม เป็นชาวนาเพราะกรรม เป็นศิลปินเพราะกรรม เป็น
พ่อค้าเพราะกรรม เป็นคนรับใช้เพราะกรรม แม้เป็นโจร
ก็เพราะกรรม แม้เป็นทหารก็เพราะกรรม เป็นปุโรหิตเพราะ
กรรม แม้เป็นพระราชาก็เพราะกรรม บัณฑิตทั้งหลายมีปกติ
เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรม
นั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า โลกย่อมเป็นไปเพราะ
กรรม หมู่สัตว์ย่อมเป็นไปเพราะกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกไว้
ในกรรม เหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น บุคคล
ชื่อว่าเป็นพราหมณ์ด้วยกรรมอันประเสริฐนี้ คือ ตบะพรหมจรรย์
สัญญมะ และทมะ กรรม ๔ อย่างนี้ เป็นกรรมอันสูงสุดของ
พรหมทั้งหลาย ทำให้ผู้ประพฤติถึงพร้อมด้วยวิชชา ๓ ระงับ
กิเลสได้ สิ้นภพใหม่แล้ว ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพรหม เป็นท้าวสักกะ ของบัณฑิตผู้รู้แจ้ง
ทั้งหลาย.