[ข้อความในสูตรอื่น (๑๘/๒๗๒-๒๗๓/๔๐๑-๔๐๒.) แทนที่จะทรงเรียกอาการเช่นนี้แห่ง สังขารว่า “ความดับ” (นิโรโธ) แต่ไปทรงเรียกเสียว่า “ความเข้าไปสงบ” (วูปสโม) ก็มีและทรงเรียกว่า “ความสงบรำงับเฉพาะ” (ปฏิปฺปสฺสทฺธิ) ก็มี].
จิตหยั่งลงสู่อมตะเมื่อประกอบด้วยสัญญาอันเหมาะสม
ภิกษุ ท. ! สัญญาเจ็ดประการเหล่านี้ อันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นปริโยสาน.
เจ็ดประการ อย่างไรเล่า ? คือ อสุภสัญญา มรณสัญญา อาหาเรปฏิกูลสัญญา สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อนิจจสัญญา อนิจเจทุกขสัญญา ทุกเขอนัตตสัญญา.
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วย อสุภสัญญา อยู่เป็นอย่างมาก จิตย่อมหวนกลับ งอกลับ ถอยกลับ ไม่ยื่นเข้าไปในการดื่มด่ำ อยู่ในเมถุนธรรม แต่ความวางเฉยหรือว่าความรู้สึกว่าปฏิกูล ดำรงอยู่ในจิต ; เปรียบเหมือนขนไก่หรือเส้นเอ็นที่เขาใส่ลงในไฟ ย่อมหด ย่อมงอ ไม่เหยียดออก ฉันใดก็ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! ถ้าเมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วยอสุภสัญญาอยู่เป็นอย่างมาก แต่จิตยังไหลเข้าไปในความดื่มด่ำอยู่ในเมถุนธรรม หรือความรู้สึกว่าไม่ปฏิกูลยังดำรง อยู่ในจิตแล้วไซร้ ; ภิกษุนั้นพึงทราบเถิดว่า “อสุภสัญญาเป็นอันเรามิได้อบรมเสียแล้วคุณวิเศษที่ยิ่งกว่าแต่ก่อนของเราไม่มี เรายังมิได้บรรลุผลแห่งภาวนา” ดังนี้. เธอเป็นผู้มีสัมปชัญญะในเรื่องนี้อยู่ดังนี้. .... ภิกษุ ท. ! เรามีเหตุผลในข้อนี้อยู่ดังนี้ จึงกล่าวว่า “อสุภสัญญาอันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นปริโยสาน” ดังนี้.
[ในกรณีแห่ง มรณสัญญา อันเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากความยินดีในชีวิต (ชีวิตนิกนฺติ) ก็ดี ; ในกรณีแห่ง อาหาเรปฏิกูลสัญญา อันเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากตัณหาในรส(รสตณฺหา) ก็ดี ; ในกรณีแห่ง สัพพโลเกอนภิรตสัญญา อันเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากความเป็นจิตติดอยู่ในโลก (โลกจิตฺต) ก็ดี ; ในกรณีแห่ง อนิจจสัญญา อันเป็นเครื่องทำจิตให้ถอยกลับจากลาภสักการะและเสียงสรรเสริญ (ลาภสกฺการสิโลก) ก็ดี ; ทั้งสี่สัญญานี้ ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความทำนองเดียวกันกับ อสุภสัญญา ซึ่งผู้ศึกษาสามารถทำการเปรียบเทียบดูเองได้ ต่อไปนี้ได้ตรัสถึง อนิจเจทุกขสัญญา อันมีระเบียบแห่งถ้อยคำแปลกออกไปดังต่อไปนี้ :-]
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วย อนิจเจทุกขสัญญา อยู่เป็นอย่างมาก สัญญาว่าความน่ากลัวอันแรงกล้า (ติพฺพาภยสญฺญา) ย่อมปรากฏขึ้นในความไม่ขยัน ในความเกียจคร้าน ในความทอดทิ้งการงาน ความประมาท ความไม่ประกอบความเพียร และในความสะเพร่า อย่างน่ากลัวเปรียบเสมือนมีเพชฌฆาตเงื้อดาบอยู่ตรงหน้า ฉะนั้น. ภิกษุ ท. ! ถ้าเมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วยอนิจเจทุกขสัญญาอยู่เป็นอย่างมาก แต่สัญญาว่าความน่ากลัวอันแรงกล้า ในความไม่ขยัน ในความเกียจคร้าน ในความทอดทิ้งการงาน ความประมาท ความไม่ประกอบ ความเพียร และในความสะเพร่า ก็ไม่ปรากฏขึ้นอย่างน่ากลัวเสมือนหนึ่งมีเพชฌฆาตเงื้อดาบอยู่ตรงหน้า แล้วไซร ้; ภิกษุนั้นพึงทราบเถิดว่า “อนิจเจทุกขสัญญาเป็นอันเรามิได้อบรมเสียแล้ว คุณวิเศษที่ยิ่งกว่าแต่ก่อนของเราไม่มี เรายังมิได้บรรลุผลแห่งภาวนา” ดังนี้. เธอเป็นผู้มีสัมปชัญญะในเรื่องนี้ อยู่ดังนี้. ....ภิกษุ ท. ! เรามีเหตุผลในข้อนี้อยู่ดังนี้ จึงกล่าวว่า “อนิจเจทุกขสัญญา อันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นปริโยสาน” ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! เมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วย ทุกเขอนัตตสัญญา อยู่เป็นอย่างมาก ใจย่อมปราศจากมานะว่าเราว่าของเรา (อหงฺการมมงฺการมาน) ทั้งในกาย อันประกอบด้วยวิญญาณนี้และในนิมิตทั้งหลายในภายนอกด้วย เป็นใจที่ก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิธา (มานะ ๓ ชั้น) เป็นใจสงบระงับ พ้นพิเศษแล้วด้วยดี. ภิกษุ ท. ! ถ้าเมื่อภิกษุมีจิตอบรมด้วยทุกเขอนัตตสัญญาอยู่เป็นอย่างมาก แต่ใจยังไม่ปราศจากมานะว่าเราว่าของเรา ทั้งในกายอันประกอบด้วยวิญญาณนี้และในนิมิตทั้งหลายในภายนอก ไม่เป็นใจก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิธา ไม่สงบระงับพ้นพิเศษแล้วด้วยดีแล้วไซร้ ; ภิกษุนั้นพึงทราบเถิดว่า “ทุกเขอนัตตสัญญาเป็นอันเรามิได้อบรม
เสียแล้ว คุณวิเศษที่ยิ่งกว่าแต่ก่อนของเราไม่มี เรายังมิได้บรรลุผลแห่งภาวนา” ดังนี้. เธอเป็นผู้มีสัมปชัญญะในเรื่องนี้อยู่ดังนี้. .... ภิกษุ ท. ! เรามีเหตุผลในข้อนี้ อยู่ดังนี้ จึงกล่าวว่า “ทุกเขอนัตตสัญญาอันบุคคลเจริญ กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นปริโยสาน”
ดังนี้.
ภิกษุ ท. ! สัญญาเจ็ดประการเหล่านี้แล อันบุคคลเจริญกระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นปริโยสาน, แล.